3 ท่า ฟื้นฟูร่างกาย ฝึกการหายใจผู้ป่วยติด COVID
(สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง)
เชื้อโควิด คือเชื้อไวรัสที่กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดอาการปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย ไอแห้ง ทั้งยังมีเสมหะ แต่นอกเหนือจากอาการดังกล่าวแล้ว การรักษาตัวอาจทำให้การขยับร่างกายน้อยลง และส่งผลให้เกิดการถดถอยของกำลังกล้ามเนื้อ ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูปอด และร่างกายให้แข็งแรง สู้กับโรคร้ายอย่างโควิด มาทำกายภาพง่ายๆ ด้วยตนเองกันเถอะ!
1. ท่าฝึกการหายใจ
การฝึกหายใจแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือการใช้กระบังลม และการหายใจเพื่อขยายปอด โดยท่าเตรียมพร้อมที่จะใช้ในการฝึกหายใจคือ การนั่งหลังตรง วางมือข้างหนึ่งระดับหน้าอก และอีกข้างวางระดับหน้าท้อง
1.1 การฝึกหายใจแบบใช้กระบังลม (ทำทุกชั่วโมง ชั่วโมงละ 5 รอบ)
- หายใจเข้าลึกทางจมูก ให้หน้าท้องและทรวงอกขยายออกเล็กน้อย
- ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ จนทรวงอก และหน้าท้องยุบลงเป็นปกติ
1.2 การหายใจเพื่อขยายปอด (ทำทุกชั่วโมง ชั่วโมงละ 5 รอบ)
- หายใจเข้าทางจมูกเพื่อให้ชายโครงทั้ง 2 ข้าง ขยายออกจากกัน
- กลั้นลมหายใจไว้ 1-3 วินาที
- ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปาดช้าๆ ให้ชายโครงเคลื่อนเข้าหากัน
2. ท่าฝึกระบายเสมหะ (ทำซ้ำครั้งละ 2 รอบ)
- หายใจเข้าลึกๆ
- กลั้นหายใจ 1-3 วินาที
- หายใจออกแรงๆ ทางปาก (คล้ายการถอนหายใจแรง)
3. ท่าป้องกันการการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
เป็นท่าที่แนะนำให้ทำทุกชั่วโมง ทำได้ทั้งในขณะที่นั่งและนอน โดยการยกข้อเท้าขึ้น-ลง 10-20 ครั้ง
ใครกันบ้างที่ทำกายภาพได้ในขณะมีการติดเชื้อ
- อุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส
- อัตราชีพจรไม่เกิน 100 ครั้งต่อนาที
- ความดันโลหิตควรอยู่ในช่วง 90-140
- ค่าออกซิเจนมากกว่า 94%
- คะแนนความเหนื่อยต้องไม่เกิน 3 คะแนน
คะแนนความเหนื่อย
1-2 = สามารถพูดและหายใจได้แบบปกติ
3-4 = หายใจติดขัด แต่ยังสามารถพูดคุยได้เป็นประโยค
5-6 = หายใจแรง และพูดได้เป็นประโยคสั้นๆ
7-8 = หายใจแรง พูดขาดตอน หรือพูดได้เป็นคำๆ
9-10 = หายใจหอบเหนื่อย พูดไม่ได้
**หากคะแนนความเหนื่อยอยู่ระหว่าง 3-5 คะแนน ต้องคอยสังเกตอาการ และหากในขณะนี้ที่ทำมีการหน้ามืด เจ็บ แน่นหน้าอก หรือหายใจหอบเหนื่อย ให้หยุดพักทันทีจนอาการลดลงเป็นปกติ
ประโยชน์ของการฟื้นฟูร่างกายระหว่างติดเชื้อ
- ลดภาวะปอดแฟบ
- เพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจ และการกำจัดเสมหะ
- ป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการปกติ หรือผู้ติดเชื้อที่มีอาการแสดงออกชัดเจน ล้วนเป็นผู้ที่ถูกเชื้อไวรัสทำลายระบบร่างกายแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายไม่ถูกทำร้ายไปมากกว่าเดิม ทั้งขณะที่ติดเชื้อ และหลังติดเชื้อ ควรมีการศึกษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการดูแลและฟื้นฟูร่างกายเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกวิธี และได้ผลดีที่สุดนั่นเอง
บทความโดย
พญ. ฑิมภ์พร วิทูรพงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโควิด ( Long COVID Health Wellness Center) ชั้น 3
โทรศัพท์ 02-836-9999 ต่อ 5370,6370