World Medical Hospital (WMC), Thailand

Language


ไวรัสตับอักเสบบี

 

ไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบีเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตับอักเสบ โดยข้อมูลจากการศึกษาเมื่อปี 2559 พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยสูงถึง 5.1% หรือกว่า 3 ล้านคน โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนับว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับและทำให้เซลล์ตับถูกทำลายจากนั้นจะพัฒนาไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับต่อไป โดยจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งตับซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย

 

ข้อมูลอ้างอิงจากการศึกษาของ C. Leroi et al. / International Journal of Infectious Diseases 51 (2016) 36–43

 

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่งโดยสามารถรับเชื้อได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

- การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่สู่ลูก (สาเหตุหลัก)

- การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย

- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับคนที่มีเชื้อ

- การใช้เข็มสักตามตัวและการเจาะหูร่วมกันกับคนที่มีเชื้อ

- การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกันคนที่มีเชื้อ

- การถูกเข็มตำจากการทำงานซึ่งเป็นเข็มที่ใช้กับคนที่มีเชื้อมาก่อน

- การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่งของคนที่มีเชื้อโดยผ่านเข้าทางบาดแผล

หมายเหตุ ไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ การทานอาหารหรือน้ำดื่มร่วมกัน การให้นมบุตร และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล)

 

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี

1.      ระยะเฉียบพลัน (ภายใน 6 เดือน)
- อาการไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา
- อาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะตับวายจากการที่มีอาการอักเสบของตับอย่างมากและเซลล์ตับถูกทำลายอย่างรุนแรง
- อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้เองภายใน 1-4 สัปดาห์ แต่จะมีผู้ป่วยบางส่วนประมาณ 5-10% ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด เปลี่ยนเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

2.      ระยะเรื้อรัง
- ระยะเรื้อรังแบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่มคือ
2.1    พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ในร่างกายโดยผู้ป่วยจะไม่มีอาการแต่ยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ถึงแม้ผลเลือดที่ใช้ตรวจการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีก่อนแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์
2.2    ตับอักเสบเรื้อรัง คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติโดยอาจจำเป็นต้องได้รับยารักษาไวรัสตับอักเสบบีอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการ โดยอาจมีอาการเมื่อเกิดภาวะตับแข็งเช่นอาการดีซ่าน ท้องมานหรือมะเร็งตับซึ่งเป็นผลที่ตามมาของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

 

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี

1 HBsAg (แอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี) ให้ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยกำลังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกาย

2 Anti-HBS (ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี): ให้ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและหายจากโรคแล้ว โดยภูมิคุ้มกันนั้นอาจลดหรือหายไปได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป ดังนั้นจึงควรตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีอย่างต่อเนื่องว่ายังมีภูมิคุ้มกันอยู่หรือไม่

3 HBV DNA (ปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบี) เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงใช้ในการติดตามการรักษาไวรัสตับอักเสบบี

4 HBeAg ใช้ในการบอกว่าโรคอยู่ในระยะที่ไวรัสกำลังแบ่งตัวหรือผ่านระยะที่ไวรัสแบ่งตัวไปแล้ว

 

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี

ประเมินจากประวัติครอบครัวว่ามีมะเร็งตับในครอบครัว อายุของผู้ป่วย ภาวะตับอักเสบ ปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ภาวะผังผืดของตับจากการตรวจด้วยเครื่องตรวจวัดผังผืดของตับ Fibroscan หรือการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์เพื่อประเมินภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับ

ในปัจจุบันมีทั้งชนิดฉีดและชนิดกิน ส่วนใหญ่มักได้รับเป็นยากินเป็นส่วนใหญ่ โดยจะพิจารณาให้ยาฉีดเมื่อผู้ป่วยมีลักษณะดังต่อไปนี้ HbeAg ได้ผลลบ, อายุน้อย, ผู้หญิง, ค่าการอักเสบของตับสูง, ปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่ำ

 

การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

  • รับประทานยาและปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
  • เข้ารับการตรวจเลือดตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • บอกให้คนใกล้ชิดทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพื่อให้ระวังตัว พร้อมให้คนใกล้ชิดไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์
  • งดบริจาคเลือด
  • งดดื่มสุราและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่สุกสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง
  • หญิงตั้งครรภ์และคลอดบุตร ควรฉีดวัคซีนให้บุตรภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ชั้น 3 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
โทร. (02) 836 - 9999 ต่อ 3821-2