World Medical Hospital (WMC), Thailand

Language


ผื่นในร่มผ้าเพศชาย

 

ผื่นในร่มผ้าเพศชาย

 

บริเวณร่มผ้า (รักแร้ ขาหนีบ อวัยวะเพศ และก้น) โดยผื่นที่เกิดได้ในบริเวณนี้ สามารถแบ่งได้เป็น


1. ผื่นผิวหนังที่ไม่ได้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่


1.1 ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณซอกพับ (Intertrigo) เกิดจากการเสียดสี ความชื้น เหงื่อ หรือการระบายอากาศที่ไม่ดี สามารถเกิดได้ทุกวัย  ลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุย อาจมีอาการคันหรือแสบร้อน บางครั้งอาจมีการติดเชื้อบริเวณผื่นได้

1.2 การติดเชื้อรากลุ่ม Candida (Candidiasis) มีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน แฉะ เปื่อยลอก ผื่นขอบเขตชัดเจน มักมีตุ่มแดงขนาดเล็ก หรือตุ่มหนองกระจายอยู่ที่บริเวณขอบของผื่น (satellite lesions) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ สามารถยืนยันการวินิจฉัยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (KOH examination) ปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้ป่วยเบาหวาน อ้วน ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาสเตียรอยด์ เป็นระยะเวลานาน

1.3 กลากบริเวณซอกพับ (Tinea cruris) พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง สามารถติดต่อจากผู้อื่น หรือจากพาหะนำเชื้อภายใต้สภาพอากาศอับชื้น ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบชัด มีขุย คันมาก มักเป็นบริเวณต้นขาด้านในและขาหนีบ สามารถยืนยันการวินิจฉัยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (KOH examination) ได้เช่นเดียวกัน

 

2. ผื่นผิวหนังที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่

 

2.1 การติดเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดรักษาหาย บางชนิดไม่มียารักษา บางชนิดจะแฝงตัวและเป็นซ้ำได้อีก เช่น

      2.1.1 เริมที่อวัยวะเพศ (Herpes simplex infection) พบเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่ม ร่วมกับมีอาการปวด  แสบ คัน ซึ่งการวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Tzanck smear)

      2.1.2 หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata) มีลักษณะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้อ ผิวอาจเรียบหรือขรุขระ มีสีชมพู น้ำตาลหรือสีเนื้อ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายอาจต้องตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการวินิจฉัย

 

2.2 การติดเชื้อแบคทีเรีย โดยสามารถรักษาหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น

      2.2.1 ซิฟิลิส (Syphilis) โดยในซิฟิลิสระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีแผลขอบแข็ง ไม่เจ็บ เรียกว่า chancre  อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต การวินิจฉัยอาศัยการตรวจหาเชื้อ T.Pallidum จากแผล โดยใช้การส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ Dark field microscope

      2.2.2 หนองใน (Gonorrhea) มักตรวจพบหนองบริเวณท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ฝีที่อวัยวะเพศ หรืออัณฑะอักเสบ การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์เบื้องต้น คือ gram stain และการตรวจเพื่อยืนยันผล (Culture) พบเชื้อ Neisseria gonorrhoeae

 

โรคในกลุ่มนี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่จำเพาะและถูกต้อง โดยบางโรคมีการรักษาที่หลากหลาย และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล รวมทั้งควรมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม เช่น anti-HIV, HBsAg, antiHCV เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ที่อาจเกิดคู่กันกับโรคทางผิวหนังได้

 

บทความโดย  

ศูนย์ศัลยกรรมและเวชกรรมเสริมสวย WMC  ชั้น 4  

โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ โทร. 02-836-9999 ต่อ *4521

Line : @worldcsc