ตาโต้ลม หรือจ้องหน้าจอนาน อาจเป็น “โรคตาแห้ง” ไม่รู้ตัว!
“โรคตาแห้ง” สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่มักอยู่ในห้องแอร์ อาจใส่คอนแทคเลนส์ หรือทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดภาวะตาแห้งทั้งสิ้น
ตาแห้งคือภาวะที่น้ำตาไม่สามารถให้ความชุ่มชื้นหรือหล่อลื่นดวงตาได้เพียงพอ โดยอาจจะเกิดจากคุณภาพของน้ำตาที่ไม่ดีพอ หรือเกิดจากการที่น้ำตาระเหยเร็วเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการ ดังนี้
- แสบตา สู้แสงไม่ได้
- เคืองตา เหมือนมีฝุ่นผงอยู่ในดวงตา
- น้ำตาไหลมากผิดปกติโดยเฉพาะเมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้นเช่น ลม ฝุ่น แสงแดด ความร้อน
- มองไม่ชัดเป็นบางครั้ง
- ตาแดง มีขี้ตา เป็นต้น
สาเหตุของภาวะตาแห้งนั้นมีหลากหลาย เช่น
- สภาวะแวดล้อม เช่น การอยู่ในห้องแอร์เป็นเวลานาน การขี่จักรยานยนต์ การขับรถที่เปิดแอร์ให้สัมผัสกับตาโดยตรง หรือการอยู่ในที่โล่งแจ้งที่มีมลพิษ ทั้ง ลม ฝุ่น แสงแดด เช่น การขายของหรือทำงานกลางแจ้ง การทำอาหารที่มีควันตลอดเวลา
- พฤติกรรมการใช้ตาในชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอเป็นระยะเวลานาน
- การใส่คอนแทคเลนส์
- การผ่าตัดรักษาดวงตา
- โรคเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง หรือภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน
- โรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน
- การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาแก้แพ้ ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือการได้รับฮอร์โมนเสริม เป็นต้น
การรักษาภาวะตาแห้ง มักเน้นที่การป้องกันและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานดวงตาให้ถูกวิธี ร่วมกับการใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาและช่วยลดอาการต่าง ๆ ของดวงตาได้
ทั้งนี้เมื่อมีอาการผิดปกติที่ดวงตา ไม่ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
บทความโดย
พญ.ณัฐชฎา กนกพัชรกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน
ศูนย์จักษุวิทยาเฉพาะทาง ชั้น 3
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
โทร 02 836 9999 ต่อ *3621