World Medical Hospital (WMC), Thailand

Language


ตัวเหลือง เตี้ย ซึม อาจเป็นเพราะ “ขาดฮอร์โมนไทรอยด์!”

 

 

ตัวเหลือง เตี้ย ซึม อาจเป็นเพราะ ขาดฮอร์โมนไทรอยด์!”

     รากฐานของการเจริญเติบโตที่ดีสมวัยคือการที่ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ ให้เด็กเจริญเติบโตตามวัยและมีพัฒนาการที่ดี แต่หากเด็กมีอาการตัวเหลือง เตี้ยแคระ เซื่องซึม และพัฒนาการทางสมองช้า อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังตกอยู่ใน “ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์”

ฮอร์โมนไทรอยด์

     ฮอร์โมนไทรอยด์ ถูกผลิตออกมาจากต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยจะทำหน้าที่ในการควบคุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน พัฒนาการทางสมอง การเผาผลาญของเซลล์ อุณหภูมิของร่างกาย การทำงานของหัวใจ การขับถ่าย ดังนั้น หากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ จะส่งผลให้เกิด ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติได้

 

อาการของ ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์

อาการของ ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กทารก ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด จะมีอาการ ดังนี้

  • ตัวเหลืองนานกว่าปกติ
  • ตัวเย็น ซึม ร้องไห้เสียงแหบ
  • กระหม่อมกว้างและปิดช้า
  • พัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • หากมาพบแพทย์ช้า จะมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น หน้าบวม ตัวบวม ลิ้นใหญ่คับปาก อาจเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย

อาการของ ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กและวัยรุ่น จะมีอาการ ดังนี้

  • ร่างกายเจริญเติบโตช้า ตัวเตี้ย
  • อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย ขี้หนาว
  • เรียนรู้ช้า
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นง่าย
  • ผมร่วง ขนคิ้วบาง ผิวหยาบ เล็บเปราะ
  • ฟันแท้ขึ้นช้า
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ

สาเหตุการ ขาดฮอร์โมนไทรอยด์

  • โรคพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ตั้งแต่กำเนิด
  • โรคของต่อมใต้สมองส่วนหน้าและสมองส่วนหน้าทำงานผิดปกติ
  • ขาดสารไอโอดีน เพราะสารไอโอดีนคือส่วนประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
  • โรคภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune disease)
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • การฉายรังสีที่บริเวณลำคอ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

     สภาวะร่างกายในวัยเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงจะทำให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพที่ดี หากต้องการให้เด็กเติบโตสมวัย พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายลูกอย่างสม่ำเสมอ และหากพบความผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาต้นตอของปัญหา เข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

บทความโดย

แพทย์หญิง ปราญชลี ศรีกาญจนวัชร

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์ เฉพาะทางต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม

ศูนย์กุมารเวช  ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ

โทร. 02-836-9999 ต่อ 2721-2