World Medical Hospital (WMC), Thailand

Language


การดูแลรักษาโรคขอบเปลือกตาอักเสบ

 

การดูแลความสะอาดของเปลือกตาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเปลือกตาอักเสบ (blepharitis) แต่หากเกิดภาวะเปลือกตาอักเสบขึ้นแล้ว ควรดูแลเปลือกตาและทำความสะอาดเปลือกตาตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้ เพื่อให้ดวงตาของคุณมีสุขภาพที่ดี และอยู่กับคุณตลอดไป

 

 

 

การดูแลรักษารักษาโรคขอบเปลือกตาอักเสบ ประกอบด้วย

  1. การประคบอุ่นที่เปลือกตา
  2. การนวดเปลือกตา
  3. การทำความสะอาดขอบเปลือกตา
  4. การใช้ยาหยอดตา
  5. การใช้ยารับประทาน

 

 

1. การประคบอุ่นที่เปลือกตา

    เป็นการรักษาหลัก สำหรับโรคขอบเปลือกตาอักเสบ

อุปกรณ์ที่สามารถนำมาประคบอุ่นที่เปลือกตา ได้แก่

1. ถุงเจลประคบร้อน-เย็น ลักษณะเป็นถุงพลาสติกหนาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในบรรจุเจลสีน้ำเงินฟ้า หากต้องการประคบอุ่นให้นำถุงเจลไปแช่น้ำร้อน

2. ข้าวหุงสุก ที่อุ่นร้อน นำมาใส่ถุงพลาสติก

3. ไข่ต้มสุก ที่อุ่นร้อน

4. น้ำร้อนใส่ขวดแก้วขนาดเล็ก ปิดฝาให้สนิท

วิธีการประคบอุ่น มีดังนี้

1. ก่อนทำการประคบอุ่น  ให้นำอุปกรณ์ประคบอุ่น มาทดสอบอุณหภูมิที่หลังมือก่อน ไม่ควรร้อนจัด เพราะเป็นอันตรายต่อเปลือกตา อุณหภูมิที่เหมาะสม คือ ประมาณ 40 องศาเซลเซียส

2. หลับตา แล้ววางผ้าบางๆ 1 ชั้น ก่อนนำอุปกรณ์สำหรับประคบอุ่นวางลงไป

3. วางอุปกรณ์สำหรับประคบอุ่นบนเปลือกตาทั้ง 2 ข้าง นานติดต่อกัน อย่างน้อย 5 นาที หากอุปกรณ์ที่นำมาประคบอุ่นมีอุณหภูมิลดลงมาก ควรนำมาอุ่นร้อนใหม่ แล้วประคบต่อจนครบเวลา ดังนั้นควรมีอุปกรณ์สำรองสำหรับประคบอุ่น

4. ประคบอุ่นวันละ 2-4 ครั้ง

 

 

 

 

2. การนวดเปลือกตา

                ดึงหัวตาและหางตาให้ตึง นวดเปลือกตาบนโดยกดรูดจากบนลงล่าง ส่วนเปลือกตาล่างนวดโดยกดรูดจากล่างขึ้นบน ซึ่งเป็นการนวดตามการวางตัวของต่อมไขมัน (Meibomian gland) บนแผ่นตา นอกจากนี้มีอุปกรณ์บางอย่างที่ช่วยในการนวดเปลือกตา เช่น แท่งแก้ว เป็นต้น

 

 

 

 

 

3. การทำความสะอาดเปลือกตา

เพื่อความสะอาด สบายตา และลดปริมาณเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่อยู่รอบเปลือกตาและขอบเปลือกตา โดยมีวิธีการดังนี้

3.1 ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนเริ่มทำความสะอาดเปลือกตา

3.2 ทำความสะอาดเปลือกตา โดยใช้ไม้พันสำลี, สำลีแผนที่ไม่มีขุย หรือนิ้วมือ ชุบแชมพูเด็กผสมน้ำหรือผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ

3.3 เช็ดทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขอบเปลือกตาเบาๆ ประมาณ 30 วินาที

3.4 ล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรืออาจไม่ต้องล้างออก หากใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาสำหรับทาทิ้งไว้โดยเฉพาะ

 

 

 

 

 ผลิตภัณฑ์ทีใช้ในการทำความสะอาดเปลือกตาในประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่

1. การใช้แชมพูสระผมเด็กผสมน้ำ ซึ่งต้องระวังไม่ให้เข้าตา เพื่อป้องกันการแสบตาหรือระคายเคืองตา เนื่องจากไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับดวงตาโดยตรง

2. ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ เรียกว่า “Lid Scrub” เช่น OCuSOFT®  มี 2 สูตร ได้แก่

2.1 สูตรออริจินัล (Original)

สำหรับทำความสะอาดเปลือกตาเป็นประจำทุกวัน  ในผู้ที่มีอาการเปลือกตาอักเสบในระยะเริ่มต้นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็น เช่น ผู้ที่แต่งหน้า ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ โดยสามารถใช้ต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เพื่อความสะอาดของเปลือกตาและเพื่อป้องกันการเกิดโรคของต่อมไขมันที่เปลือกตา เช่น โรคเปลือกตาอักเสบ ตากุ้งยิง เป็นต้น

2.2 สูตรพลัส (Plus)

                สำหรับทำความสะอาดเปลือกตาในผู้ที่มีภาวะเปลือกตาอักเสบระดับปานกลางหรือรุนแรง, ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ หรือผู้ที่มีอาการเปลือกตาอักเสบร่วมกับติดเชื้อ หรือพบว่ามีเชื้อไรเดโมเด็กซ์ (Demodex) ที่ขนตา โดยใช้เช็ดทำความสะอาดเปลือกตาและขอบตา โดยไม่ต้องล้างน้ำออก

 

 

 

 

4. การใช้ยาหยอดตา

4.1 ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาขี้ผึ้งคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ป้ายตาก่อนนอน ยาหยอดตาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ยาหยอดตาอะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) และยาหยอดตากลุ่มควิโนโลน (Quinolones) เป็นต้น

4.2 ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และใช้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น เนื่องจากยาอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

4.3 น้ำตาเทียม ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะตาแห้งร่วมด้วย โดยนิยมใช้น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย, ให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาได้นาน, มี osmolarity ต่ำและมีคุณสมบัติในการสมานแผลที่ผิวกระจกตาได้ดี

 

 

 

 

5. การใช้ยารับประทาน

            แพทย์อาจสั่งจ่ายยารับประทานเพื่อรักษาโรคขอบเปลือกตาอักเสบในผู้ป่วยบางราย โดยทั่วไปจะให้นาน 6-8 สัปดาห์ โดยยามีหลายชนิดดังนี้

5.1 ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) เม็ดละ 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารทันที วันละ 4 ครั้ง ผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

5.2 ยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) เม็ดละ 100 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารทันที วันละ 2 ครั้ง ยานี้มีผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร (ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงที่เด่นชัด คือ ผิวหนังไวต่อแสงมากผิดปกติ)

5.3 ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เลือกใช้สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยา เตตราไซคลีนหรือดอกซีไซคลีน โดยให้ยาอิริโทรมัยซิน เม็ดละ 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร 1 ชม. หรือหลังอาหาร 2 ชม. วันละ 4 ครั้ง

             หากรับประทานยาแล้ว หายใจไม่ออก หน้าบวม มีผดผื่น หรือมีปัญหาในการรับประทานยา ควรพบแพทย์ทันที

 

ข้อมูลจาก ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และ บริษัท ทีอาร์บี เชอร์เม็ดดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด

 

NUTTAMON SRISAMRAN,M.D.
แพทย์หญิง ณฐมน ศรีสำราญ

จักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน
ประจำศูนย์จักษุเฉพาะทาง (Advanced Ophthalmology Center)
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
World Medical Hospital (WMC)