ประจำเดือนมาเยอะ อาจจะเสี่ยง “เนื้องอกมดลูก!”
“เนื้องอก” คงเป็นคำที่ใครหลายคนหวาดผวาหลังจากได้ยิน เพราะนอกจากจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะแล้ว ยังอาจมีความเสี่ยงที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้อีกด้วย แต่สำหรับเนื้องอกมดลูก เป็นเนื้องอกชนิดที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้น้อย
เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งในบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก โพรงมดลูก รวมไปถึงผิวมดลูก แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเนื้องอกมดลูก แต่เนื้องอกมดลูกนั้น มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่รังไข่สร้างขึ้นมา นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สตรีวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 30-50 ปีมีความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกมดลูกมากกว่าช่วงวัยอื่น
ซึ่งแม้ว่าโดยปกติแล้ว เนื้องอกมดลูกจะไม่มีการแสดงอาการออกมามากนัก แต่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบ่อย ส่งผลให้หลายคนสังเกตุได้และเลือกที่จะมาตรวจและพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูกคือ
- เลือดประจำเดือนออกมากและนานผิดปกติ ร่วมกับการมีลิ่มเลือดออกมาพร้อมประจำเดือน ซึ่งเกิดจากการที่เนื้องอกกีดขวางการบีบตัวของมดลูกเมื่อหยุดเลือดประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้มีอาการ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และหน้ามืดบ่อย ๆ
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากเนื้องอกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูก จากการที่เนื้องอกกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อเข้ากับทวารหนัก
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย
- มีบุตรยากและเสี่ยงแท้งบุตร จากการที่ก้อนเนื้องอกยื่นเข้าไปในบริเวณโพรงมดลูก ซึ่งอาจขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนอีกด้วย
การรักษาเนื้องอกมดลูกมีด้วยกันหลายแบบ ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและอาการที่เกิดจากเนื้องอกมดลูก
- หากเนื้องอกยังเล็กและยังไม่เสี่ยงต่อการกดทับอวัยวะอื่น การรักษาหลักคือการตรวจติดตามขนาดและอาการ
- การรักษาตามอาการด้วยการใช้ยาแก้ปวดหรือยาฮอร์โมน
- การฉีดยาฮอร์โมนเพื่อให้เนื้องอกขนาดเล็กลง มักใช้ในผู้ที่ต้องการผ่าตัดเนื้องอกออก หรือในวัยใกล้หมดประจำเดือน
- หากผู้ป่วยต้องการมีบุตรจะใช้วิธี ผ่าตัดเฉพาะเนื้องอก เป็นการผ่าตัดส่องกล้องที่แผลจะมีขนาดเล็ก หรือเปิดหน้าท้องขึ้นอยู่กับขนาด ปริมาณ และตำแหน่งของเนื้องอก
- การผ่าตัดนำมดลูกออก วิธีนี้จะถูกใช้เมื่อเนื้องอกมีขนาดใหญ่ มีอาการที่เกิดจากเนื้องอกหรือมีขนาดโตเร็วจนเสี่ยงต่อมะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก และใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีความต้องการมีลูกอีกแล้ว
และแม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูก แต่พันธุกรรมและฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกัน การดูแลสุขภาพจึงที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปี คือสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราได้ทราบและรักษาโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
บทความโดย : แพทย์หญิงนภวรี จันทรวงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์สูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ชั้น 4 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
โทร 02-836-9999 ต่อ 4721-2